ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

ประจำรัชกาลที่ 9
แห่งราชวงศ์จักรี
ราชภัฏสัญลักษณ์
ราชภัฏสัญลักษณ์เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ ประกอบด้วยวงจักรกลางวงจักรมีอักขระเป็น อุ หรือเลข 9 รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบเหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตร 7 ชั้น ตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ แปลความหมายว่าทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน โดยที่วันบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปด มีสีสัญลักษณ์ตราประจำสถาบัน 5 สี คือ
สีน้ำเงิน หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิดและพระราชทานนาม“สถาบันราชภัฏ”
สีเขียว หมายถึง แหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่งในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
สีทอง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองทางปัญญา
สีส้ม หมายถึง ความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ก้าวไกลใน 40 มหาวิทยาลัย
สีขาว หมายถึง ความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
สีประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครธงประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร

เขียว – ชมพู
คติธรรมประจำมหาวิทยาลัย
ปญฺญา โลกสฺมึ ปชฺโชโต : ปัญญาคือแสงสว่างส่องโลก
พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย

พระพุทธรัชปัญญาบารมี
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
ต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูณ)
ประวัติและพัฒนาการ
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางจังหวัดอุดรธานี ระยะทาง 6 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้น 636 ไร่ 2 งาน 4 ตารางวา เดิมเป็นที่ดินของกระทรวงกลาโหมและของกรมตำรวจ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพลตำรวจภูธร 4 จังหวัดสกลนคร แต่ได้ยุบเลิกกิจการไปรวมกับภาคอื่นต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างศาลากลางจังหวัดสกลนคร การก่อสร้างตัวอาคารใหม่ได้แล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2506 แต่ยังไม่ได้ใช้กระทรวงมหาดไทย ได้เปลี่ยนโครงการไปสร้างศาลากลางจังหวัดที่บริเวณศูนย์ราชการของจังหวัดสกลนครในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการจึงขอที่ดินและสิ่งก่อสร้างเพื่อตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู ซึ่ง ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้มอบที่ดินและสิ่งก่อสร้างให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู ดังนั้น โรงเรียนฝึกหัดครูสกลนครจึงได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2507
โรงเรียนฝึกหัดครูสกลนครเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2507 รับนักศึกษารุ่นแรก 70 คน (ชาย 48 หญิง 22 คน) โดยฝากเรียนไว้กับวิทยาลัยครูอุบลราชธานี วิทยาลัยครูมหาสารคาม และวิทยาลัยครูอุดรธานี มีนายจำนง ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม เป็นอาจารย์ใหญ่ ปีการศึกษา 2508 รับนักศึกษาเพิ่ม 152 คน มีครูอาจารย์ 18 คน ปีการศึกษา 2509 เริ่มเปิดสอนในระดับ ป.กศ. สูง เป็นปีแรก รับนักศึกษา 146 คน ครูอาจารย์มี 24 คน นายพจน์ ธัญญขันธ์ ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่การดำเนินงานของโรงเรียนฝึกหัดครูสกลนครได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ มีการรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นมีครูอาจารย์เพิ่มมากขึ้น อาคารและสิ่งก่อสร้างก็เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการจึงยกฐานะขึ้นเป็น “วิทยาลัยครูสกลนคร” เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2513 และได้ขยายการผลิตครูออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคปกติ และภาคค่ำ
ในปีการศึกษา 2518 เปิดสอนในระดับปริญญาตรี (ค.บ.) เป็นปีแรก
ปีการศึกษา 2519 สภาการฝึกหัดครูได้จัดให้มีการเรียนการสอนแบบทวิภาค ดังนั้น สถาบันจึงเปลี่ยนชื่อจาก “นักศึกษาภาคค่ำ” เป็น “นักศึกษาต่อเนื่อง” จนถึงปี 2521
ปีการศึกษา 2521 ได้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี 2 ปีหลัง (หลังอนุปริญญา) เป็นปีแรกและเปิดอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำการ (อคป.)
ปีการศึกษา 2528 เปิดสอนในสาขาวิชาที่หลากหลายมากขึ้น คือ สาขาศิลปศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์
ปีการศึกษา 2529 เปิดสอนในโครงการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) ในหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี และปริญญาตรี 2 ปีหลัง
ปีการศึกษา 2530 เริ่มโครงการคุรุทายาท เป็นปีแรก
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศว่า “สถาบันราชภัฏ” ในปี พ.ศ. 2537 รัฐบาล ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538 ต่อรัฐสภา เมื่อผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2538 ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 112 ตอนที่ 4 ก ลงวันที่ 24 มกราคม 2538 จากพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ มีผลให้วิทยาลัยครูสกลนครเปลี่ยนเป็น“สถาบันราชภัฏสกลนคร” สังกัดสำนักงาน สภาสถาบันราชภัฏ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ กองสาสนะ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของสถาบันราชภัฏสกลนคร
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงลง พระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 23 ก ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 มีผลให้สถาบันราชภัฏสกลนครได้รับยกฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร” ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2547 และผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา สุวรรณไตรย์ และอธิการบดี คนปัจจุบันคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาคริต ชาญชิตปรีชา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร